เป็นมิตรเมื่อเช่าซื้อ เป็นศัตรูเมื่อทวง
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ไม่มีเงินก้อนที่จะหาปัจจัยที่ห้าสำหรับชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง จึงต้องพึ่งสถาบันการเงินที่เรียกกันง่ายว่า ไฟแนนซ์ มาช่วยซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ให้ แล้วค่อยๆ ผ่อนจ่ายกับบริษัทเป็นรายเดือน โดยบริษัทต่างๆ ที่รับจัดไฟแนนซ์ให้มักจะรวมค่าดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มไปในตัวเรียบร้อยแล้ว จึงคำนวณออกมาเป็นราคาที่เช่าซื้อกัน ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บัญญัติเอาไว้ว่า “ อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ”
ทั้งที่ผู้เช่าซื้อทำสัญญาที่บริษัทเอามาให้ลงชื่อโดยที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้กับสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าว ซึ่งมีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมรวมอยู่ด้วย ในอดีตการเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย แต่ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 เข้ามาควบคุมบริษัทสินเชื่อเหล่าหนี้
ส่วนใหญ่ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคขาดส่งค่างวดเพียง 2 งวด ถูกพนักงานของบริษัทโทรตามวันละหลายๆ ครั้งจนเกิดความรำคาญ ทั้งที่ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้ติดค่างวดถึง 3 งวด แต่อย่างใด ซึ่งในใจจะนำไปชำระในงวดที่สามคราวเดียวกันหมด เนื่องจากระยะเวลาทั้งสองงวดติดขัดปัญหาเรื่องเงิน เพราะบางรายส่งเงินให้กับบริษัทไปเยอะพอสมควรไม่ปล่อยให้รถหลุดไปง่ายๆ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพนักงานของบริษัทยังคงขยันโทรตามทุกวัน พนักงานบางรายขู่ลูกค้าไปในตัว หากใครเจออย่างนี้รีบขอจดชื่อเอาไว้เลยครับ จากนั้นก็โทรไปสำนักงานใหญ่เพื่อขอคุยกับกรรมการของบริษัทเกี่ยวกับการถูกโทรตามหนี้ค่างวดให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบริษัทได้รับทราบกันบ้าง
ในเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการเช่าซื้อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงออกประกาศดังกล่าวมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถอยู่ ดังจะเห็นได้จาก ประกาศคณะกรรมการฯข้อ 3
(4 ) ระบุว่า “ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ ค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าว ผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในอย่างน้อย 30วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น
ส่วนสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ ระบุชัดเจนว่า “ เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกันและเจ้าของได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันแล้วนับแต่ได้รับหนังสือบอกกล่าว ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที…” ในเมื่อค่างวดที่ค้างยังไม่ครบ 3 งวด ทางบริษัท ก็ไม่มีสิทธิ์มายึดรถหรือบอกเบิกสัญญากับเราได้ แต่ยังมีปัญหาตามมาคือ เบี้ยปรับมักจะสูงทั้งที่ราคาเช่าซื้อได้รวมเอาไว้หมดแล้ว จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่รอการแก้ไข หากเกิดเป็นคดีที่ศาลแล้วศาลยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับผู้บริโภคในเรื่องของค่าปรับล่าช้าด้วย
เมื่อถึงตรงนี้แล้วขอให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและตั้งสติให้ได้ที่จะตอบโต้กับเหล่าพนักงานทวงหนี้ให้ได้ เพราะท่านจะต้องรักษาสิทธิของท่านด้วยใช่ว่าจะถูกโจมตีเป็นฝ่ายตั้งรับฝ่ายเดียว หากท่านติดค่างวดเกิน 3 งวด แล้วบริษัทจะส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมกับให้ท่านนำเงินที่ค้างชำระทั้งหมด (ค่าเช่าซื้อในส่วนที่เหลืออยู่ ) ไปชำระให้บริษัทภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งในระยะเวลาหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วทางบริษัทใช้สิทธิติดตามเอารถยนต์หรือจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อกลับเข้ามาอยู่ในความครอบครองของบริษัท
โดยทนายเกียรติศักดิ์ ช่อเจริญ