สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ จัดโครงการ “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ เร่งฟื้นประชากรสัตว์ป่า และสร้างสมดุลของระบบนิเวศ
นายสมหวัง เรืองนิวัตศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์สัตว์ป่าของไทยมีจำนวนลดลง และหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เนื่องจากถูกคุกคามทั้งจากปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ การค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการขยายตัวของชุมชนตลอดจนความต้องการพื้นที่การเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้น สำนักบริหารฯจึงได้ดำเนินโครงการ “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” เพื่อเร่งฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า และสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มีแผนที่จะดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ 11 แห่ง ปล่อยสัตว์ป่า 32 ชนิด จำนวน 4,046 ตัว โดยครั้งนี้ (18 มิ.ย.2562) โครงการส่งสัตว์ป่าคืนวนาฯ จัดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และได้รับเกียรติจากท่าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเปิดเผยว่า
สัตว์ป่าทั้งหมดที่นำมาปล่อยนั้น เป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จากสถานี้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งก่อนนำมาปล่อยได้ทดลองทำกรงให้มันอยู่ก่อนหลังจากนั้นก็จะมาปล่อยโดยมีการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของมันอยู่ตลอดเวลาทั้งติดจีพีเอสและติดตั้งกล้องคาเมล่าแคมไว้เพื่อดูความเคลื่อนไหวของมัน และทำโป่งดินไว้ให้มัน
ซึ่งเชื่อว่าหากสัตว์ป่าทั้งหมดนั้นถูกปล่อยไปจะเป็นการไปเพิ่มประชากรสัตว์ในพื้นที่ป่าให้แพร่ขยายขึ้นไปอีกอย่างไรก็ตามการปล่อยสัตว์ที่เกิดขึ้นนั้นที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน อย่างเช่นที่นี้ ชุมชนคนพร้าวรักษ์ป่าได้มีการช่วยกันดูแลผืนป่ามีกฏกติกาทำให้ป่าต้นน้ำสมบูรณ์ นอกจากนี้แล้วทางชาวบ้านนำโดยผู้นำชุมชนยังได้มีการปฏิญานตนไม่เข้าป่าล่าสัตว์และบุกรุกทำลายป่าพร้อมกันนี้ได้มอบปืนแก็บให้กับทางอธิบดีได้นำไปเก็บไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเลิกล่าสัตว์ด้วย
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ดำเนินการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 9 แสนกว่าไร่ คลอบคลุม 3 อำเภอคือ อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง และ อำเภอพร้าว
โดยกิจกรรมปล่อยสัตว์ป่าครั้งนี้ จะดำเนินการใน 2 จุด รวมสัตว์ป่าทั้งหมด 9 ชนิด จำนวน 636 ตัว คือ
จุดที่ 1 บริเวณวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 ชนิด 250 ตัว ได้แก่ นกปรอดหัวโขน 42 ตัว นกยูงไทย 4 ตัว ไก่ฟ้าหลังขาว 100 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง 100 ตัว เก้ง 4 ตัว
จุดที่ 2 บริเวณผาช่อ เหนือเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 8 ชนิด 386 ตัว ได้แก่ เนื้อทราย 20 ตัว , กวางป่า 2 ตัว , ละองละมั่งพันธุ์พม่า 4 ตัว , เก้ง 2 ตัว , นกยูง 2 ตัว , ไก่ฟ้าหลังขาว 220 ตัว , ไก่ป่าตุ้มหูแดง 130 ตัว , อีเห็นข้างลาย 6 ตัว โดยสัตว์ป่าทั้งหมดที่ปล่อยในครั้งนี้ เป็นสัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยงจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ,/ สถานีฯ ห้วยยางปาน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ,/ สถานีฯ ปางตอง อำเภอเมือง /จังหวัดแม่ฮ่องสอน , สถานีฯ แม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย , สถานีฯ แม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย , สถานีฯ ดอยตุง อำเภอแม่ฟ้า-หลวง จังหวัดเชียงราย
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า พื้นที่ปล่อยสัตว์ป่าทั้ง 2 จุด
ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ มีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตและเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีการลาดตระเวน ดูแลป้องกันพื้นที่อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งองค์กรเครือข่าย พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือและมีทัศนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตลอดจนได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ และภาคเอกชนในพื้นที่อาทิ ชมรมผู้ประกอบการท่าเรือเรือนแพเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล บริษัทห้างร้านต่างๆ ในอำเภอพร้าว
ร้อยตรีสมบัติ บัญชาเมฆหรือบัวขาว บัญชาเมฆ เป็นต้น
“โครงการส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง คาดว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นจะสามารถเพิ่มประชากรสัตว์ป่า และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้อย่างสัมฤทธิ์ผลที่ตั้งไว้”