ศป.ปส.ชน.แถลงข่าวผลปฎิบัติงานประจำปี 60 ในห้วงรอบปีที่ผ่านมา ณ กองพันพัฒนาที่ 3 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
วันที่ 14 ก.ย.2560 เวลา 11.30 น. ที่ ศูนย์ปฏิบัติการณ์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ พล.ท.ธนา จารุวัตร์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ผบ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ แถลงข่าวผลปฎิบัติงานประจำปี 60 ศป.ปส.ชน.ในห้วงรอบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 13 กันยายน 2560 ผลการจับกุมยาเสพติดของหน่วยงานสำคัญ แยกเป็นหน่วยงาน ป.ป.ส. ยึดยาบ้าได้ 103,488,677 เม็ด และ ผง 168,529 กรัม ไอซ์ 1,215,392 กรัม เฮโรอีน 266,636 กรัม ฝิ่น 665,545 กรัม สำนักงานปปส.ภ.5 ยึดยาบ้าได้ 53,227,955 เม็ด ไอซ์ 234,810 กรัม เฮโรอีน 202,350 กรัม ฝิ่น 487,400 กรัม สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 ยึดยาบ้าได้ 52,311,229 เม็ด ไอซ์ 412,215 กรัม เฮโรอีน 213,517 กรัม ฝิ่น 203,838 กรัม กองกำลังผาเมือง ยึดยาบ้าได้ 26,240888 เม็ด ไอซ์ 84,854 กรัม เฮโรอีน 37,375 กรัม ฝิ่น 40,380 กรัม และ ศป.ปส.ชน. ยึดยาบ้าได้ 6,818,662 เม็ด ไอซ์ 9,052 กรัม เฮโรอีน 1,201 และฝิ่น 34,460 กรัม
พล.ท.ธนา จารุวัตร์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ผบ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ เผยว่าสำหรับสถานการณ์ยาเสพติด สภาพโดยทั่วไป การผลิตยาเสพติดหลักประเภทยาบ้า, เฮโรอีน, ไอซ์ มีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน สภาพเมียนมา ส่วนวัตถุดิบ สารเคมีตั้งต้นและสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติดนำเข้ามาจากประเทศจีน, อินเดีย และ สปป.ลาว เป็นหลัก รวมประมาณ 3,000 ตัน กลุ่มผู้ผลิตหลักยังคงเป็นกลุ่มกองกำลังพม่าเชื้อสายว้า (UWSA) สำหรับในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉาน สมม.ติดกับเขตไทยนั้น ส่วนมากเป็นแหล่งตอกอัดเม็ดยาบ้า โดยรับหัวเชื้อยาบ้าจากตอนเหนือของรัฐฉานมาดำเนินการผสมใหม่ จากสภาวะดังกล่าวทำให้ผลิตยาเสพติดประเภท ยาบ้า ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากจะจำหน่ายเพื่อเสพในไทยแล้ว ยังใช้ไทยเป็นทางผ่านไปส่งประเทศที่ 3 เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น สำนักงาน ป.ป.ส. ประเมินกำลังการผลิตยาเสพติดหลักในปี 60 คาดว่าประกอบด้วย ยาบ้า 1,000 ล้านเม็ด, เฮโรอีน 50 ตัน, ไอซ์ 20 ตัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการของผู้เสพยาเสพติดในไทย ส่งผลให้แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะจับกุมยาบ้าในปี 60 ได้มากกว่า 160 ล้านเม็ด ราคาขายปลีกต่อเม็ด จึงไม่ลดลง จากสภาพเส้นทางคมนาคมที่สะดวก การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและมีวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินหลายช่องทาง เครือข่ายการค้ายาเสพติดจึงมีการขยายตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อซื้อ – ขาย รวมถึงการจ่ายเงินเป็นค่ายาเสพติดในรูปแบบต่างๆ ที่ยากต่อการติดตามของเจ้าหน้าที่
แนวโน้มของสถานการณ์ยาเสพติดในปี 61 การผลิตยาเสพติดหลักในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน สมม. ยังมีสนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างเพียงพอ เครือข่ายการติดต่อซื้อ – ขาย การลำเลียงเพื่อนำเข้าเขตไทยและส่งจำหน่ายไปประเทศที่ 3 ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ประเมินว่าราคาจำหน่ายยาเสพติดในปีหน้าจะไม่สูงขึ้นไปกว่าเดิม เนื่องจากการผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เสพได้อย่างเพียงพอแม้จะถูกจับกุมได้เป็นจำนวนที่สูงมากก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด จะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะลดกำลังการผลิตและปิดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดออกทางพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอย่างได้ผล
ภารกิจในการปฏิบัติ ทาง ศป.ปส.ชน. มีภารกิจในการควบคุม อำนวยการประสานงานบูรณาการต่อส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นปราบปรามป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอชายแดนของ จ.แม่ฮ่องสอน, จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รับผิดชอบพื้นที่อำเภอชายแดน 14 อำเภอ และ อำเภอตอนใน 7 อำเภอ จัดกำลังปฏิบัติงานในพื้นที่ กำลังหลักมีหน่วยขึ้นตรง 3 กองบังคับการควบคุม และ 10 ชุดปฏิบัติการ หน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ 5 กองบังคับ การควบคุมพื้นที่พิเศษ และ 1 กองร้อยทหารพราน โดยผลการปฏิบัติงาน ศป.ปส.ชน. ปี 60 แบ่งเป็น 1. ด้านการสกัดกั้นปราบปราม สรุปผลการสกัดกั้นปราบปรามในพื้นที่รับผิดชอบ 21 อำเภอ ห้วงตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 13 กันยายน 2560 ดังนี้ การปฏิบัติงาน รวมทั้งสิ้น 7,446 ครั้ง เป็นการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ 2,537 ครั้ง ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด 4,244 ครั้ง ปิดล้อมตรวจค้น 645 ครั้ง การเปิดยุทธการ 20 ครั้ง ผลการตรวจค้น จับกุม หน่วย ศป.ปส.ชน. จำนวน 438 คดี ยาบ้า 6,818,662 เม็ด ไอซ์ 9,052 กรัม เฮโรอีน 1,201 กรัม ฝิ่น 34,460 กรัม เงินสด ,565,965 บาท รถจักรยานยนต์ 76 คัน รถยนต์ 16 คัน อาวุธปืนสั้นและยาว 77 กระบอก ผู้ต้องหา 597 ราย
2. ด้านการป้องกัน ศป.ปส.ชน. ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร โดยให้ความสำคัญด้าน การป้องกันเพื่อจะไม่ให้ประชาชนไปพึ่งพายาเสพติด ใช้การผสมผสานแผนงานต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่วิถีชุมชน เน้นการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด จัดกำลังเข้าแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อความมั่นคงพื้นที่ บ.ห้วยส้าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ศป.ปส.ชน. จัดการอบรมกลุ่มชาติพันธ์ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ ใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และเผ่าอาข่า ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อให้ตระหนักถึงภัยคุกคามยาเสพติดและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนในทุกๆด้านด้วยความเสียสละของคนในชุมชน 3. ด้านการบำบัดรักษา ศป.ปส.ชน. จัดตั้งศูนย์ขวัญแผ่นดิน แห่งที่ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่ ณ กองพันพัฒนาที่ 3 อ.แม่ริม มุ่งเน้นต่อผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในพื้นที่เป้าหมาย 5 อำเภอชายแดน ของ จ.เชียงใหม่ ดำเนินการบำบัดรักษาตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเพิ่มเติมกิจกรรมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของกลุ่มชนตามแนวชายแดน และศป.ปส.ชน. ได้เปิดศูนย์ขวัญแผ่นดิน จำนวน 6 รุ่น ทำการรับผู้บำบัดรักษา จำนวน 551 คน นอกจากนี้ได้เปิดค่ายบำบัดรักษา(ถอนพิษ) กลุ่มผู้เสพฝิ่น เฮโรอีน เป็นรุ่นที่ 7 กลุ่มเป้าหมาย อ.ไชยปราการ และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีผู้เข้ารับการบำบัด จำนวน 55 คน ศป.ปส.ชน. จัดกำลังพลติดตาม ตรวจสอบ ผู้ผ่านการบำบัดทุกคนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องปรามมิให้หวนกลับไปเสพยาเสพติดและคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ
4. งานพิเศษ ศป.ปส.ชน. จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่สูง เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการและประชาชน จัดกิจกรรมปลูกป่าใน จ.เชียงใหม่ พื้นที่ บ.โล๊ะป่าไคร้ ต.บ้านหลวง อ.แม่อาย จำนวน 400 ไร่, บ.ป่าหนา ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ จำนวน 273 ไร่ การช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม ให้แก่ประชาชน สร้างฝายหลวงตามศาสตร์พระราชาต้านยาเสพติด กั้นลำน้ำแม่นาวาง ในพื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.แม่อาย เป็นฝายแกนไม้ไผ่ ประชาชนร่วมลงแรงสร้างฝายโดยไม่คิดค่าจ้างแรงงาน ใช้เวลาก่อสร้างนาน 7 เดือน
พล.ท.ธนา กล่าวว่าทาง ปปส.ได้คาดการณ์ไว้ว่า ยาบ้าจะมีประมาณ 1,000 ล้านเม็ด แต่ยึดได้เพียง 177 ล้านเม็ด เฮโรอีน 50 ตัน หรือ 50,000 กิโลกรัม ยึดได้เพียงแค่ 1 ตัน ไอซ์ 20 ตัน แต่ยึดได้แค่ 4 ตัน ทำให้มองว่ายาเสพติดที่หายไปนั้นไปอยู่ในส่วนไหน แต่ยาเสพติดที่ยึดได้มากที่สุดคือในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ศป.ปส.ชน. จึงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร โดยให้ความสำคัญด้านการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอชายแดนภาคเหนือและบำบัด ผู้ที่ติดยาเสพติดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องปรามมิให้หวนกลับไปเสพยาเสพติดและคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อให้อยู่ในสังคมได้ต่อไป.


