มุ่งมั่นพัฒนา สง่างาม สมเกียรติ สร้างเสริมระเบียบวินัย รู้รักสามัคคี สู่มาตรฐานการฝึกศึกษา จงรักภักดี เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ภารกิจ ของศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ พ.อ.นรา อุตรพงศ์ ผู้บังคับศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เพื่อให้นักศึกษาทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้ารับการฝึกวิชาทหารมีความรู้วิชาทหารทั้งในทางเทคนิคและทางยุทธวิธีตามลำดับ ดังนี้.- นักศึกษาวิชาทหาร.ชั้นปีที่ ๑ และ ๒ ให้มีความรู้และมีทักษะวิชาทหารเบื้องต้นอย่างเพียงพอ ได้รับการสร้างเสริมลักษณะทหารอย่างเข้มงวด จนมีบุคลิกเป็นทหารอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับนักเรียนเตรียมทหาร มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการฝึกในชั้นปีที่สูงขึ้น รวมถึงให้ได้รับการเสริมสร้างให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความรักหมู่คณะและเป็นผู้มีความเสียสละต่อส่วนรวม สำหรับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ ๓ นั้นจะให้มีความรู้ความสามารถทางทหารตลอดจนมีลักษณะผู้นำในระดับผู้บังคับหมู่ สามารถใช้อาวุธประจำกายและทำการยิงอย่างได้ผล ชั้นปีที่ ๔ และ ๕ ให้มีความรู้ความสามารถทางทหาร และมีลักษณะผู้นำในระดับผู้บังคับหมวด มีความสามารถอย่างเพียงพอต่อการนำหน่วยในระดับหมวด เป็นการปลูกฝังอุดมการณ์ให้ มีความยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีจิตสำนึกในเรื่องชาตินิยม รวมทั้งมีความเชื่อมั่น และศรัทธาในกองทัพ และ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย เชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีของชาติ มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงมีความอดทนและอดกลั้น สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมการฝึกที่ยากลำบาก มีส่วนร่วมในการรณรงค์ และดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง จริงจัง และต่อเนื่อง มีความรัก ความสามัคคีในหมู่ ด้วยกัน และปฏิบัติตนเป็นแกนนำสร้างความสามัคคีในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาในสังคมและประเทศชาติ
พ.อ.นรา อุตรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีว่า สำหรับหลักสูตรศูนย์ฝึกวิชาทหารมณฑลทหารบกที่ 33 มีโรงเรียนระดับมัธยมและระดับมหาวิทยาลัย อยู่ในพื้นที่ในความรับผิดชอบ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 133 สถาบันมีนักศึกษาเข้าสมัครเรียนวิชาทหารจำนวนทั้งหมด 1,500 คน โดยแบ่งออกเป็นชั้นปีที่ 1-3 และชั้นปีที่ 4-5 หลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ภาค ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ผู้ที่ยังไม่ผ่านภาคทฤษฎี ไม่สามารถไปเรียนภาคปฏิบัติได้
วินัย 9 ข้อ ของนักศึกษาวิชาทหารประกอบด้วย
๑.ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ๒.ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย ๓.ไม่รักษามารยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร ๔.ก่อให้แตกความสามัคคีในหมู่ทหาร ๕.เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
๖.กล่าวคำเท็จ ๗.ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร ๘.ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิด ตามโทษานุโทษ ๙.เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
ประวัติศูนย์วิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33
การฝึกนักศึกษาวิชาทหารในเขตพื้นที่จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ เริ่มมีขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๔๙๒ โดยกองการฝึกภาคพายัพ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนเจ้าเชตุ ถนนสนามชัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดครูฝึกเคลื่อนที่ จากส่วนกลาง ขึ้นมาทำการฝึกนักศึกษาวิชาทหารที่เชียงใหม่ ในครั้งนั้นมีนักศึกษาวิชาทหารเข้ารับการฝึก เพียง ๘ สถานศึกษา คือ ๑. โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ ๒. โรงเรียนการช่างชายเชียงใหม่๓. โรงเรียนบูรณศักดิ์๔. โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย๕. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย๖. โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ๗. วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่๘. วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ โดยชุดครูฝึกเคลื่อนที่ไปฝึกสอนตามสถานศึกษาที่นักศึกษาวิชาทหารสังกัดอยู่ต่อมาสถานศึกษาวิชาทหารได้ขยายและเพิ่มจำนวนนักศึกษาวิชาทหารมากขึ้นตามลำดับ เป็นเหตุให้การจัดชุดครูฝึกเคลื่อนที่ ไม่สะดวกและเหมาะสม ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้ก่อตั้งแผนกการฝึกเชียงใหม่ขึ้นโดยทางราชการได้ขอซื้อที่ดิน บริเวณด้านทิศเหนือ ติดกับวัดป่าพร้าวใน ถนนสิงหราช ซอย ๓ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา จากพันเอกพระยามหาณรงค์ เรืองเดช โดยมี พันโทผจญ สุภารัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกการฝึกคนแรก แผนกการเชียงใหม่ เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองการฝึกภาคพายัพ กรุงเทพมหานคร โดยฝากการบังคับบัญชาไว้กับ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ และรับผิดชอบการฝึกในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง ในเวลาต่อมาได้จัดตั้งแผนกการฝึกจังหวัดลำปางขึ้น เป็นเหตุให้แผนกการฝึกจังหวัดเชียงใหม่ เหลือเขตพื้นที่รับผิดชอบเพียง ๒ จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ต่อมาได้เพิ่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น และเมื่อมีการเปิดสถานศึกษาวิชาทหาร จึงรวมเป็นเขตรับผิดชอบจำนวน ๓ จังหวัดดังกล่าว
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ แผนกการฝึกกำลังสำรองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขึ้นตรงกับจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักศึกษาวิชาทหารไม่มากนัก ปัจจุบันมีนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ ๑ ถึงชั้นปีที่ ๕ ทั้งชายและหญิง จำนวนประมาณ ๑๕,๐๐๐ นาย เมื่อมีจำนวนนักศึกษาวิชาทหารเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณงานการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงได้ขยายอัตราแผนกการฝึก จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหารมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ตามคำสั่ง กองทัพบก (เฉพาะ)ที่ ๖๙/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ ( ซึ่งจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ ก็ได้ขยายอัตรา และเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลทหารบกที่ ๓๓ ในปีเดียวกัน ) เริ่มเคลื่อนย้ายหน่วยเข้าที่ตั้ง ณ อาคาร เลขที่ ๒๐๑/๒๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ รัฐบาลได้ขอใช้พื้นที่บริเวณที่ตั้งหน่วย จำนวน ๔๐๐ ไร่ เพื่อทำการก่อสร้างหอประชุมแห่งชาติ, ศูนย์กระจายสินค้าขนาดกลาง และขนาดย่อย, ตลาดกลางสินค้าเพื่อการเกษตร โดยสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างสำนักงาน และบ้านพักกำลังพลแห่งใหม่ ทางทิศตะวันตกของพื้นที่เดิม ตามอนุมัติผู้บัญชาการทหารบก ท้ายหนังสือกรมส่งกำลังบำรุงทหารบก (ด่วนมาก) ที่ต่อ กห ๐๔๐๔/๑๒๐/๔๗ เรื่อง ขออนุมัติความต้องการ และแผนจัดหางานก่อสร้าง ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหารมณฑลทหารบกที่ ๓๓ แห่งใหม่ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๒๐๓,๔๔๕,๗๐๘.๐๐ บาท โดย บริษัท ไอยเรศ จำกัด ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ และรับมอบงานเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙ หน่วยได้ประกอบพิธีเคลื่อนย้ายกำลังพล และยุทโธปกรณ์ เข้าสู่สำนักงาน และบ้านพักกำลังพลแห่งใหม่ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๒๙ หมู่ ๑ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับประกอบพิธีทำบุญ และเจิมป้ายนามหน่วย เพื่อความเป็นสิริมงคลเกียรติประวัติของหน่วย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๙ กองทัพบก โดย หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ได้มอบโล่ และประกาศเกียรติคุณให้กับ ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหารมณฑลทหารบกที่ ๓๓ , โรงเรียนแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนจักรคำคณาทร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และโรงเรียนห้องสอนศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในโครงการศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารแข็งขัน สถานศึกษาร่วมใจ มุ่งสู่มาตรฐานเดียวกัน ในฐานะที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหารและสถานศึกษาวิชาทหารดีเด่น ของกองทัพบก ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘