ในการประชุมคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดลำพูน มีการรายงาน ผลการดำเนินงาน สถานการณ์และแนวโน้มปัญหายาเสพติดจังหวัดลำพูน ปี 2558 – 2559 โดย ในห้วงปี 2558 จังหวัดลำพูนไม่ปรากฏสถานการณ์การผลิตและการลักลอบการปลูกพืชเสพติด ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ ในปี 2559 ยังต้องเฝ้าระวัง กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงาน เยาวชนนอกสถานศึกษา ที่มีแนวโน้ม จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
เช้าวานนี้ ที่ ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายอนันตพล บุญชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดลำพูน ( ศอ.ปส.จ.ลพ. ) เพื่อรับทราบและติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา ยาเสพติดของ จังหวัดลำพูน โดยมีการติดตาม ผลการดำเนินการลดปัญหาการแพร่ระบาดของ ยาเสพติดรอบที่ 2 / 2558 ( Re X – Ray ) พื้นที่หมู่บ้าน แพร่ระบาดมาก – ปานกลาง ซึ่ง เจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการ ต่อผู้ค้า ผู้เสพ , ชุมชน มีการจัดประชุมประชาคม การจัดตั้งจุดตรวจ / ด่านตรวจ , มีการจัดชุดปฏิบัติการออกตรวจและลาดตระเวน การจัดกิจกรรมป้องกันกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการติดตามผู้ผ่านการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่า สามารถลดระดับความรุนแรงหมู่บ้านแพร่ระบาดมาก จากเดิมจำนวน 18 หมู่บ้าน คงเหลือ 5 หมู่บ้าน และ สามารถลดระดับความรุนแรงหมู่บ้านแพร่ระบาดปานกลาง จากเดิมจำนวน 36 หมู่บ้าน คงเหลือ 33 หมู่บ้าน
ด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาในสถานศึกษา ( Lamphun Team ) ได้มีการกำชับสถานศึกษา ให้ความสำคัญในการดำเนินงาน โดย มีการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติให้แก่ผู้อำนวยการสถานศึกษา / โรงเรียน และครูฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่เลขานุการคณะทำงานฯ จำนวน 2 รุ่น ๆ ละ 1 วัน เพื่อเน้นย้ำและทำความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในการขับเคลื่อน Lamphun Team ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและปรากฏผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม มีการดำเนินการจัดประชุมและค้นหาสภาพปัญหาในห้วงเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2558 เพื่อจัดระเบียบสังคมเกี่ยวกับหอพัก สถานบริการ สถานบันเทิง ร้านเกม อินเตอร์เน็ต แหล่งมั่วสุมอบายมุขต่าง ๆ รอบสถานศึกษา นำร่องในสถานศึกษาจังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งจังหวัดลำพูน มีเป้าหมายการดำเนินงานที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
ซึ่ง ผลการดำเนินงานดังนี้ 1. จัดให้มีการประชุมคณะทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 388 ครั้ง 2. ค้นพบสภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อนักเรียน / นักศึกษา ในด้านยาเสพติด จำนวน 17 ครั้ง ดำเนินการ ป้องกัน 33 คน ฟื้นฟู 18 คน , ด้านแหล่งมั่วสุ่ม จำนวน 115 ดำเนินการชี้แจง 41 ครั้ง ตรวจตรา 74 ครั้ง , ด้านอื่นๆ จำนวน 84 ครั้ง เช่น หนีเรียน 27 คน สุรา/บุหรี 31 คน ทะเลาะวิวาท 12 คน ชู้สาว 15 คน ออกกลางครัน 5 คน มีนักเรียนที่เกี่ยวข้อง 114 คน
ด้านผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 5 ได้รายงานถึงสถานการณ์และแนวโน้มปัญหายาเสพติดจังหวัดลำพูน ปี 2558-2559 ว่า ในห้วงเวลาปี 2558 จังหวัดลำพูนไม่ปรากฏสถานการณ์การผลิตและการลักลอบการปลูกพืชเสพติด ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในปี 2559 พื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดของจังหวัดลำพูน ยังคงอยู่ในอำเภอขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมากในจังหวัดได้แก่อำเภอเมืองลำพูน แม่ทา และป่าซาง มีช่องทางนำเข้าหรือลำเลียงยาเสพติดยังคงเป็นเส้นทางเดิม โดยกลุ่มขบวนการที่ควรเฝ้าระวังได้แก่กลุ่มขบวนการเชื้อชาติม้ง, มูเซอ , ลีซอ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มม้งที่มีความสัมพันธ์กับม้งในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย และน่าน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยพื้นที่จังหวัดลำพูนยังคงถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผ่านที่สำคัญในการลำเลียงผ่านยาเสพติด กลุ่มบุคคลเป้าหมายที่ควรเฝ้าระวังยังคงได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงาน เยาวชนนอกสถานศึกษา ซึ่งควรเน้นหนักในการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงผลกระทบต่อการค้าและการเสพยาเสพติด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังยังคงเป็นหอพัก บ้านเช่า สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ซึ่งควรใช้มาตรการการจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนชนิดของยาเสพติดที่ควรเฝ้าระวังยังคงเป็นยาบ้า รวมทั้งควรหามาตรการควบคุมการใช้ยาเสพติดในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสภาพการทำงานที่ซ้ำซาก จำเจ ตลอดจนเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีกำลังซื้อสูง
อภิชิต พิงคะสัน ข่าว จ.ลำพูน / รายงาน



