ผบ.กกล.นเรศวร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าทวงคืนพื้นที่ป่า ระบุรัฐบาลจะดำเนินการเด็ดขาดกับนายทุน ที่บุกรุกพื้นที่ป่าปลูกยางพารา ขณะที่ราษฎรที่ปลูกในพื้นที่ทำกิน ยัน จะรอพิสูจน์สิทธิ์ก่อน
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 58 ที่ ฉก.ทพ.36 ค่ายเทพสิงห์ พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร เดินทางมาพบปะกลุ่มเกษตรกรปลูกยางพารา โดยมี พ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน ผบ.ฉก.ทพ.36 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ จากนั้น ผบ.กองกำลังนเรศวร ได้พบปะพูดคุยถึงแนวทางการปลูกยางพารา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 2 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย เดินทางร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย จำนวน 9 ราย มีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวน 59 ไร่ อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ แม่ยวมฝั่งซ้าย ที่บ้านแม่สวด อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 15 ไร่ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งขวา บ้านแม่ต๊อบ ต.บ้านกาศ จำนวน 26 ไร่ และที่บ้านป่าหมาก ต.บ้านกาศ จำนวน 18 ไร่ และทำความเข้าใจเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ปรับเปลี่ยนความคิดปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน ผลเจรจาเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย
พล.ต.นพพร เผยว่า ตอนนี้ยางพารามีจำนวนมากจนล้นตลาด จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ ที่ห่างไกล พื้นที่สวนยางยังมีไม่มากมายนัก ส่วนมากเป็นราษฎรที่ทำกิน สำหรับรัฐบาลมีนโยบาย ที่จะดำเนินการทวงพื้นที่ป่า จากนายทุนที่เข้ามาซื้อที่ของราษฎร แล้วนำไปปลูกยางพารา เป็นจำนวนมากหลายร้อยไร่ โดยบุคคลกลุ่มนี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดี และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้มีการร้องทุกข์ ภายใน 60 วัน หากไม่มีใครเข้าร้องทุกข์ ก็จะเข้าไปตัดทำลาย และปลูกป่าทดแทนในโอกาสต่อไป แต่สำหรับราษฎร ที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ทำกินของตนเอง และได้เข้าไปทำกินก่อน ปี 2541 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือตามภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี 2545 และพิสูจน์ทราบว่า เป็นที่ทำกินของราษฎรอยู่แล้ว ก็จะมีการอนุโลม ให้ใช้สิทธิ์เพราะถือว่าไม่ได้บุกรุกพื้นที่ และเป็นที่ทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว สำหรับราษฎรที่ได้ปลูกยางพาราไว้ตามปลายนา และอยู่ในพื้นที่ทำกินของตัวเอง และสืบทราบแล้วว่าเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร ที่อยู่บริเวณรอบหมู่บ้าน และเป็นชาวบ้านที่ยากจนมาปลูกไว้ เพียง 5 – 10 ไร่ โดยผ่านการพิสูจน์แล้ว อย่างนี้ถือว่าเป็นของชาวบ้าน ก็จะอนุโลม แต่จะต้องไม่ปลูกเพิ่ม และแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ห่างไกล ยางคงสู้ตลาดที่อื่นไม่ได้ และควรปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น กาแฟ และควรน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข.