ผู้เสียหายคดีรถชนควรทำอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบคู่กรณีในคดีอาญาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง

005

            จากการที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกันมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ชนกัน หรือ รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกันเอง หรือชนคนเดินก็ตาม  ในคดีอาญาจะเป็นเรื่องของ พรบ.จราจรทางบก  พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้เสียหายเมื่อเกิดเหตุพนักงานสอบสวนเวรจะต้องรับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าวจนกระทั่งส่งสำนวนคดีพร้อมกับผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล  แต่ก็มีบางสำนวนที่พนักงานสอบสวนทำสำนวนไม่รัดกุมและรวบรัด  เนื่องจากมิได้สอบถามฝ่ายผู้บาดเจ็บที่ได้รับความเสียหายต้องการให้ฝ่ายผิดบรรเทาผลร้ายมากน้อยเพียงใด  เพื่อให้พนักงานอัยการได้ร่างในคำฟ้องถึงเรื่องมีการเบาเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นหรือไม่

            หลังจากที่จำเลยถูกฟ้องแล้วศาลท่านจะดูรายงานการชันสูตรพลิกศพหรือบาดแผลประกอบการวินิจฉัย  หากจำเลยต้องการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น  เพราะไม่อยากติดคุกก็จะขอศาลทำการไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายหรือผู้บาดเจ็บก่อน  เพื่อชดใช้ค่าเสียหายก่อนพิพากษา  นอกจากนั้นยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ทางศาลจะปฏิบัติคือ  ออกหมายเรียกหรือหมายนัดให้ผู้เสียหายหรือผู้บาดเจ็บมาศาลในวันนัดพร้อม สอบคำให้การจำเลย  เพื่อจะได้สอบถามผู้เสียหายหรือผู้บาดเจ็บว่าต้องการให้จำเลยเยียวยาหรือชดใช้ค่าสินไหมจำนวนเท่าใด  เนื่องจากเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

            ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์  ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต  ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย  ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้  แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน  ในกรณีไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี  และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในส่วนคดีแพ่ง  แต่ในคดีอาญาเป็นผู้ร้อง  ซึ่งกรณีดังกล่าวควรมีทนายความเข้ามาช่วยเหลือในคดีเพื่อสืบพยานในส่วนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเท่านั้น ถ้าในคดีมีการตายเกิดขึ้นจำเลยไม่ได้บรรเทาผลร้ายให้แก่ญาติผู้ตายแล้วโอกาสรอดจากคุกมองไม่เห็น  หากฟ้องทางแพ่งเองจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีกร้อยละ 2 บาท ต่อทุนทรัพย์ที่ฟ้อง

            ส่วนคดีที่บาดเจ็บหรือทุพลภาพบางรายจำเลยขอจ่ายค่าสินไหมให้เพียง 20,000 บาท ทางผู้เสียหายรับไม่ได้เพราะน้อยเกินไป  ซึ่งไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่แต่งตั้งทนายความเข้ามาช่วยเหลือในคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  จนกระทั่งในที่สุดจำเลยต้องคำพิพากษาเพียงว่ามีความผิดแต่รอการลงโทษไว้ 2 ปี พร้อมกับปรับอีกโสดหนึ่งเท่านั้น  ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาผลร้ายที่ฝ่ายจำเลยก่อให้เกิดขึ้น  จึงฝากถึงผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนักถึงสิทธิของตนเองและผู้อื่นที่ประสบเหตุรถชนจนมีคนเจ็บหรือตายเกิดขึ้น  เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนอันเป็นการเยียวยาผู้บาดเจ็บหรือญาติผู้ตายอีกทางหนึ่งครับ

                                                                                                          โดย  ทนายเกียรติศักดิ์  ช่อเจริญ  085-8631441