ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องเองได้

0051

            การทุจริต เป็นภัยร้ายแรงสำคัญที่ทำลายความมั่นคงของชาติ การทุจริตเกิดจากหลายสาเหตุ ตัวแปรปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันถือว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “วาระแห่งชาติ ” มีเป้าหมายสำคัญคือ “ คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกงในทุกวงการ ” การดำเนินการทุกอย่างจึงต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโยบาย แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมในทุกระดับและต้องมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐ  มีกลไกในการลงโทษและการบังคับใช้กฎหมาย

ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( บทบัญญัติของมาตรานี้เป็นมาตราหลักของความรับผิดยังมีอีกหลายมาตราที่เป็นเป็นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ )

นิยามความหมายของคำว่า “ เจ้าพนักงาน ” นั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ได้บัญญัติไว้ว่า “ เจ้าพนักงาน ” หมายความว่า   บุคคลซี่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

                จากนิยามความหมายดังกล่าวเจ้าพนักงานจึงไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พนักงานของรัฐ  เท่านั้น อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว มีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เช่น นักการเมือง อาสาสมัคร เป็นต้น เพราะบุคคลเหล่านี้กำลังทำงานให้แก่รัฐที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป  ซึ่งนิยามดังกล่าวต้องการให้มีความรับผิดการปฏิบัติหน้าที่ หากมีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ

            ส่วนเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ได้ให้ความหมายว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ ขององค์การระหว่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้หมายความ รวมถึงเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

           ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559  ซึ่งประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 17 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ประกอบด้วย

            ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ตั้งที่ส่วนกลาง) มีขอบเขตอำนาจหน้าที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ (กรณีนี้ศาลจะใช้ดุลยพินิจว่าจะรับพิจารณาหรือไม่เพราะอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค) รวมถึงกรณีความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมาและรับโอนคดีที่ค้างจากศาลยุติธรรม  ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบ คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯซึ่งขณะนี้มีคดีกว่า 70 คดี ที่จะต้องโอนมา แต่ในช่วงแรกจะยังกำหนดให้การฟ้องคดีทุจริตฯ ยังฟ้องได้ที่ศาลในภูมิลำเนาทั่วราชอาณาจักรก่อน เพื่อความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งหากมีการฟ้องคดีเข้ามาศาลในเขตพื้นที่ภูมิลำเนา ก็จะส่งคำฟ้องมายังศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อให้พิจารณาว่า มีคำสั่งอย่างไร โดยศาลอาญาคดีทุจริตที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ เป็นศาลระบบไต่สวนที่มีวิธีค้นหาความจริงตามพยานหลักฐานที่มีทั้งหมด โดยจะยึดเอาสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เป็นหลักลักษณะเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลอาญาทุจริตฯ ก็ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีเองของประชาชน โดยมีการไต่สวนมูลฟ้องเช่นเดียวกันกับคดีอาญาทั่วไป และบางคดีมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ ประหารชีวิต ด้วย

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคแต่ละภาคมีอำนาจพิจารณาในเขตอำนาจของตน คือ

(1) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีเขตศาลในจังหวัดชัยนาท
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง

(2) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 มีเขตศาลในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว

(3) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีเขตศาลในจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี

(4) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีเขตศาลในจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี

(5) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีเขตศาลในจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน

(6) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีเขตศาลในจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี

(7) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีเขตศาลในจังหวัดกาญจนบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสุพรรณบุรี

(8) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีเขตศาลในจังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

(9) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีเขตศาลในจังหวัดตรัง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล

ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคมีที่ตั้งแต่ละภาคดังนี้

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสระบุรี , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดระยอง , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสุรินทร์ , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดขอนแก่น , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดพิษณุโลก , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสมุทรสงคราม , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสงขลา

ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบภาค 8 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

                ส่วนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จะเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายรายถูกดำเนินคดีแล้วทั่วประเทศ  ซึ่งคดีประเภทนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องได้เองเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไปด้วย  ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินคดีฟ้องเองและไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการทั่วประเทศ

โดย…..ทนายเกียรติศักดิ์  ช่อเจริญ

08-5863-144