เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พรบ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีทั้งหมด 47 มาตรา กำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมีบทลงโทษหนักกว่าชาวบ้านถึง 5 เท่า ในที่นี้ขอนำรายละเอียดที่สำคัญบางส่วนแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบดังต่อไปนี้
1. ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนก่อน โดยการทวงถามหนี้นั้น ห้ามทวงกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ ส่วนการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ไปยังบุคคล สามารถติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และวันหยุดราชการสามารถติดต่อตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
2. ข้อห้ามสำหรับการทวงถามหนี้ คือ ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความรุนแรงแก่ร่างกายและชื่อเสียงของลูกหนี้ นอกจากนี้ ยังห้ามทวงหนี้ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น เป็นการทวงหนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจจะเข้าสู่การดำเนินคดี เป็นต้น
3. โทษทางอาญา หากมีบุคคลที่ฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นเรื่องการทวงหนี้อันเป็นเท็จ จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด จะระวางโทษไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นับถัดจากวันที่ 6 มีนาคม 2558 เป็นต้นไปอีก 180 วันหรือ 6 เดือน บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายเริ่มมีความอุ่นใจขึ้นมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ในระบบและนอกระบบ บางท่านยังสับสนว่า หนี้นอกระบบกับในระบบแตกต่างกันอย่างไร ผมใคร่ขออธิบายเพิ่มเติม ณ ที่นี้ว่า หนี้ในระบบ คือ หนี้ที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมหรือขอสินเชื่อมาจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ส่วนหนี้นอกระบบนั้น เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ไม่อยู่ในความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย.
โดย ทนายเกียรติศักดิ์ ช่อเจริญ 085-8631441